ลูกไหน (Plum)

พลัม (Plum)

ลูกพลัม (Plum) หรือที่คนไทยเรียกว่า ลูกไหน เป็นผลไม้ที่อยู่ในสกุลเดียวกับลูกท้อ และเชอร์รี เปลือกนอกมีหลากหลายสี ตั้งแต่สีเขียว น้ำเงิน เหลือง สีแดงเข้มไปจนถึงดำ เนื้อมีสีแตกต่างกัน ทั้งสีเหลืองครีม สีแดงเข้ม สีม่วง หรือสีเขียวอ่อน ๆ ขึ้นอยู่กับชนิดของพันธุ์ รสชาติหวานอร่อย แต่หากยังไม่สุกเต็มที่จะมีรสชาติฝาด มีมากมายหลายพันธุ์แตกต่างตามภูมิประเทศและสถานที่ปลูก

ลูกไหน (Plum)
ลูกไหน (Plum)

พลัม (Plum) เป็นไม้ผลเขตหนาวขนาดกลาง แยกออกเป็น 2 ชนิด คือ พลัมยุโรป (European plum) และพลัมญี่ปุ่น (Japanese plum) พลัมที่ปลูกในประเทศไทยเป็นพวกพลัมญี่ปุ่น ซึ่งปลูกกันมานานแต่ยังไม่แพร่หลาย ต่อมามูลนิธิโครงการหลวงได้นำเอาพลัมพันธุ์ Gulf Ruby จากรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา มาทดสอบที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขางในปี พ.ศ.2522 และได้วิจัยและพัฒนาจนกระทั่งประสบความสำเร็จ ทำให้พลัมเป็นไม้ผลที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเป็นอาชีพชนิดหนึ่ง แหล่งปลูกที่สำคัญได้แก่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ แม่ปูนหลวง แกน้อย และอ่างขาง

ลูกไหน (Plum)
ต้นพลัมเริ่มออกดอก

พันธุ์พลัมที่ปลูกในประเทศไทย

พลัมที่ปลูกในประเทศไทยมีหลายพันธุ์ ซึ่งแต่ละพันธุ์จะมีการใช้ประโยชน์แตกต่างกันไป เช่น ใช้บริโภคสด แปรรูป หรือใช้เป็นคู่ผสม

  1. พลัมพันธุ์ Gulf Ruby เป็นพันธุ์รับประทานสดที่มีผลผลิตมากที่สุดในปัจจุบัน ผลมีขนาดโตกว่าพันธุ์อื่นๆ น้ำหนักประมาณ 60-80 กรัมต่อผล ทรงผลกลมสูง ก้นแหลมสีม่วงอมแดง เนื้อสีเหลือง รสชาติหวานอมเปรี้ยวเก็บเกี่ยวได้ประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม การติดผลต้องการพันธุ์คู่ผสม
  2. พลัมพันธุ์ Gulf Gold เป็นพันธุ์รับประทานสด ผลมีขนาดใหญ่และลักษณะผลคล้ายกับพันธุ์ Gulf Ruby แต่ผลมีสีเหลือง เมื่อสุกจัดจะเปลี่ยนเป็นสีส้ม ผลสุกเก็บเกี่ยวได้ช้าคือประมาณปลายเดือนพฤษภาคม การติดผลผสมตัวเองได้ดี
  3. พันธุ์เหลืองบ้านหลวง ลักษณะผลกลม ขนาดกลาง น้ำหนักประมาณ 40-60 กรัมต่อผล ผลมีสีเหลืองเนื้อผลสีเหลือง รสชาติหวานและมีกลิ่นหอม เก็บเกี่ยวได้ในเดือนพฤษภาคม การติดผลต้องมีพันธุ์อื่นช่วยผสมเกสรจึงจะติดผลได้ดี สามารถปลูกได้ในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่  900  เมตรขึ้นไป
  4. พันธุ์แดงบ้านหลวง ลักษณะผลกลมแป้นมีร่องลึก เนื้อผลมีสีแดงเข้มเมื่อสุกจะมีสีแดงอมดำคล้ายเลือด และขนาดของผลมีทั้งสายพันธุ์ที่ผลใหญ่และผลเล็ก น้ำหนัก 40-70 กรัมต่อผล ผลมีรสชาติหวาน สามารถรับประทานสดได้ดีโดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ผลใหญ่ และสามารถแปรรูปได้ดีเช่นกันเพราะเนื้อค่อนข้างแข็ง ผลผลิตเก็บเกี่ยวได้ช้าคือ ประมาณเดือนพฤษภาคม การติดผลผสมตัวเองได้ดี
  5. พันธุ์จูหลี่ เป็นพันธุ์สำหรับแปรรูป ผลมีขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-2 เซนติเมตร ลักษณะผลกลม สีแดง เนื้อผลสีเหลืองเข้ม เมล็ดเล็ก ผลสามารถติดอยู่บนต้นได้นาน ช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตคือเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม สามารถปลูกได้ดีในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่  700  เมตร   ขึ้นไป การติดผลผสมตัวเองได้ดี
  6. พลัมพันธุ์อื่นที่ปลูกในประเทศไทย ที่ยังไม่สามารถปลูกเป็นการค้าได้แต่ใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ เช่น ใช้เป็นคู่ผสม ได้แก่ พันธุ์เหลืองอินเดีย และพันธุ์ขุนแจ๋ เป็นต้น
ลูกไหน (Plum)

ลูกไหนเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางอาหารสูงมาก โดยสารอาหารที่อยู่ในลูกไหน ได้แก่ วิตามินซี วิตามินเค ทองแดง ไฟเบอร์ โพแทสเซียม แคลเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม และสังกะสี เป็นผลไม้ที่มีไขมันต่ำ และแคลอรีน้อย นอกจากนี้ กรดนีโอคลอโลเจนิกและกรดคลอโลเจนิกในลูกไหน ยังมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันการถูกทำลายของเซลล์จากสารอนุมูลอิสระ ที่สำคัญยังมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ อีกด้วย

ลูกไหน (Plum)
ลูกไหนดำ (Black Plum) ผลไม้นำเข้าจากอเมริกา ราคากิโลกรัมละ 599 บาท

ส่วนลูกไหนอบแห้ง หรือ ลูกพรุน ที่หลายคนนิยมกินกันเป็นอาหารลดความอ้วน ก็มีประโยชน์ไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็น ช่วยแก้ปัญหาท้องผูกหรือขับถ่ายลำบากได้ดี เพราะลูกพรุน 1 ลูกก็มีปริมาณไฟเบอร์สูงถึง 1 กรัม และแม้ลูกพรุนจะมีรสหวาน แต่กลับเป็นผลไม้ที่มีระดับดัชนีน้ำตาลในระดับที่ต่ำ ทำให้เป็นผลไม้ที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน นอกจากนั้นลูกพรุนยังช่วยบำรุงสมองและความจำได้อีกด้วย