หอมแดง (Shallot) เป็นวัตถุดิบที่ทุกครัวเรือนมีไว้ประกอบอาหารทั้งอาหารคาวและอาหารหวาน คนไทยนิยมนำหอมแดง มาเป็นส่วนประกอบเครื่องแกงเผ็ด เป็นส่วนประกอบของไข่เจียวหมูสับ ซุปหางวัว รับประทานสดโดยฝานเป็นแว่นบางๆ รับประทานร่วมกับแหนมสด เมี่ยงคำ ปลาเค็มทอดบีบมะนาว หอมแดงซอย กับพริกขี้หนูสวนหั่นฝอย เป็นส่วนประกอบของน้ำพริกกะปิ หอมแดงเผาตำผสมกับน้ำพริกปลาร้า และเป็นส่วนประกอบของหลนทุกอย่าง เป็นส่วนประกอบของขนมหวาน เช่น หอมแดงซอยเจียว ใส่ในข้าวเหนียวหน้าปลาแห้ง ขนมหม้อแกงถั่ว และไข่ลูกเขย (อาหารคาวหวาน) ฯลฯ
หอมแดง (Shallot) เป็นพืชผักเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยหอมแดงเป็นพืชที่โดยทั่วไปจะปลูกหลังฤดูกาลทำนา นิยมปลูกกันมากในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยพื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดพะเยา จังหวัดลำพูน และจังหวัดอุตรดิตถ์ พบว่าในปี 2558 ประเทศไทยมีเนื้อที่เพาะปลูกทั้งหมด 57,129 ไร่ ได้ผลผลิตรวม 115,794 ตัน ราคาเฉลี่ยในปี 2558 อยู่ที่ 16.87 บาท/กิโลกรัม (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2558)
ประเทศไทยส่งออกหอมแดงไปยังประเทศมาเลเซียเป็นจำนวนมาก การซื้อขายส่วนใหญ่เป็นหัวๆ ชั่งขายเป็นกิโลกรัม และมัดขายเป็นกำๆ แต่ก็ขายตามน้ำหนักเช่นเดียวกัน ในประเทศไทยปลูกกันมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ แต่หอมแดงที่มีชื่อเสียงว่าเป็นหอมแดงคุณภาพดีได้แก่หอมแดงจากจังหวัดศรีสะเกษ
หอมแดงที่นิยมปลูกในประเทศไทย มี 4 สายพันธุ์ คือ
- หอมแดงพันธุ์ศรีสะเกษ มีลักษณะเปลือกของหัวด้านนอกหนา มีสีแดงอมม่วง หัวกลมป้อม มีกลิ่นฉุน รสหวาน ใบเขียวเข้ม
- หอมแดงพันธุ์บางช้าง มีลักษณะใกล้เคียงกับพันธุ์ศรีสะเกษ แต่เปลือกของหัวหอมจะสีจางกว่า แต่ลักษณะเด่น คือ ให้ผลผลิตต่อไร่สูง
- หอมแดงพันธุ์เชียงใหม่ เปลือกของหัวหอมบาง มีสีส้มอ่อน หัวกลมรี กลิ่นไม่ฉุนรสหวาน ใบสีเขียว
- หอมแดงพันธุ์สีขาว เปลือกบาง หัวมีสีสีขาวอมเหลือง หัวกลมป้อม กลิ่นไม่ฉุน